Lloyd George, David, 1st Earl Lloyd-George of Dwyfor (1863-1945)

เดวิด ลอยด์ จอร์จ เอิร์ลลอยด์-จอร์จที่ ๑ แห่งดูอีฟอร์ (๒๔๐๖-๒๔๘๘)

​     เดวิด ลอยด์ จอร์จ เอิร์ลลอยด์-จอร์จที่ ๑ แห่งดูอีฟอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๒๒ ผู้ได้รับยกย่องให้เป็นผู้นำระดับแนวหน้าของอังกฤษและผู้นำคนสำคัญของประเทศสัมพันธมิตรใน

สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนเดียวที่เป็นชาวเวลส์ (Welsh) ลอยด์ จอร์จได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) จากเขตเลือกตั้งคาร์นาร์วอน (Carnarvon) ติดต่อกันเป็นเวลา ๕๕ ปี ( ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๔๕) และดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาล (รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี) ติดต่อกันเป็นเวลา ๑๗ ปี ( ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๒๒) โดยสังกัดพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* เป็นนักการเมืองชาวเวลส์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจนได้ฉายาว่า "พ่อมดชาวเวลส์" (The Welsh Wizard) ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นดาวสภาหัวรุนแรงที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปสังคมและต่อสู้เพื่อชาวเวลส์และพวกนอนคอนฟอร์มิสต์ (nonconformist) หรือพวก โปรเตสแตนต์ที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) หรือนิกายอังกฤษ (Church of England) ทั้งมีวาทศิลป์ที่สามารถโน้มน้าวผู้ฟังให้เห็นคล้อยกับเขาได้เป็นอย่างดี ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลอยด์ จอร์จเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญ ๆ ในคณะรัฐบาลพรรคเสรีนิยม รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธในช่วงต้นของสงครามโลกในคณะรัฐบาลที่มีเฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท (Herbert Henry Asquith ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๑๖)* เป็นนายกรัฐมนตรี เขามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์แก่กองทัพอังกฤษให้มีจำนวนสูงสุดในการต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนี เมื่อแอสควิทถูกโจมตีว่าไร้ประสิทธิภาพในฐานะผู้นำประเทศในยามสงครามและต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ลอยด์ จอร์จก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขามีบทบาทที่ทำให้ อังกฤษมีชัยชนะในสงครามและผู้ที่ชื่นชมในตัวเขาได้ให้สมญานามเขาว่า "บุรุษผู้ชนะสงคราม" (The Man Who Won the War) เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ลอยด์ จอร์จเป็น ๑ ใน ๔ ของผู้แทนประเทศมหาอำนาจในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ค.ศ. ๑๙๑๙
     ลอยด์ จอร์จเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๘๖๓ ในครอบครัวชาวเวลส์ที่มีฐานะปานกลาง เขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวน ๔ คนของวิลเลียม จอร์จ (William George) และเอลิซาเบท ลอยด์ (Elizabeth Lloyd) โดยมีพี่สาว ๒ คนและน้องชาย ๑ คน บิดาประกอบอาชีพครูที่เมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ซึ่งเป็นเขตเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของอังกฤษ และลอยด์ จอร์จก็ถือกำเนิดที่นั่นด้วย ส่วนมารดาเกิดในครอบครัวบาทหลวงในนิกายแบปติสต (Baptism) ที่เคร่งศาสนาและประกอบอาชีพนายช่างทำรองเท้า เมื่อลอยด์ จอร์จอายุได้เพียง ๒ เดือน บิดาซึ่งมีปัญหาสุขภาพและไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศและชีวิตในเมืองได้อีกต่อไปจึงลาออกจากงานสอนหนังสือและอพยพครอบครัวไปตั้งรกรากที่บ้านเกิด ณ มณฑลเพมโบรกส์เชียร์ (Pembrokeshire) ในแคว้นเวลส์ แต่การตรากตรำในการทำไร่ ประกอบกับสุขภาพที่อ่อนแอจึงทำให้เขาล้มป่วยด้วยโรคปอดบวมและเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๔ ขณะมีอายุ ๔๔ ปี เอลิซาเบทผู้เป็นมารดาซึ่งขณะนั้นได้ตั้งครรภ์บุตรชายคนเล็กจึงตัดสินใจขายไร่และพาลูก ๆ ทั้ง ๓ ไปอาศัยอยู่กับริชาร์ด ลอยด์ (Richard Lloyd) พี่ชายที่เมืองแลนสตัมดูอี (Llanystumdwy) มณฑลไคร์นาร์วอนเชียร์ (Caernarvonshire) ตอนเหนือของแคว้นเวลส์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ลอยด์ จอร์จจึงเติบโตในบ้านของลุงซึ่งเป็นนายช่างทำรองเท้าเช่นเดียวกับปู่และต่อมาเป็นนักเทศน์ในนิกายแบปติสต์ ลุงเป็นทั้งผู้ช่วยอุปการะเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนลอยด์ จอร์จและพี่น้องของเขาส่วนลอยด์ จอร์จก็ให้ความเคารพรักลุงเสมือนบิดาด้วยในเวลาต่อมาด้วยความผูกพันกับลุงดังกล่าว เขาก็ได้นำนามสกุล "ลอยด์" ของลุงมาใช้ร่วมกับนามสกุล "จอร์จ" ของบิดาเป็น "ลอยด์ จอร์จ"
     ลอยด์ จอร์จได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านและเรียนเองที่บ้านโดยมีลุงเป็นผู้สอนริชาร์ด ลอยด์ได้ปลูกฝังทั้งแนวความคิดท้องถิ่นนิยมหรือเวลส์นิยม ความอิสระในการนับถือศาสนาของพวกนอนคอนฟอร์มิสต์ และแนวความคิดทางการเมืองของพรรคเสรีนิยมให้แก่หลาน ๆ ทั้งยังสนับสนุนให้เขายึดอาชีพนักกฎหมายและเป็นนักการเมือง ลุงจึงนับเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อลอยด์ จอร์จมากที่สุดตราบจนลุงเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ด้วยวัย ๘๓ ปี ขณะที่ลอยด์ จอร์จหลานชายดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ
     หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาล แลนสตัมดูอีแห่งนิกายแองกลิคัน (Anglican Llanystumdwy National School) ลอยด์ จอร์จเป็นเด็กฝึกงานและทำหน้าที่ เสมียนประจำสำนักงานกฎหมายที่ เมืองพอร์ตแมด็อก (Portmadoc) ใกล้บ้านและเรียน ภาษาละตินและฝรั่งเศสด้วยตนเองเพื่อเตรียมสอบใบ อนุญาตเป็นทนายความที่ ปรึกษา (solicitor) และ ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ ก็ได้เป็นทนายความที่ปรึกษาตามที่ตั้งใจลอยด์ จอร์จปรับปรุงห้องนั่งเล่นในบ้านลุงเป็นสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๗ เขาและวิลเลียม จอร์จ น้องชายซึ่งก็ได้ใบอนุญาตเช่นเดียวกันร่วมกันจัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นตามเมืองใกล้เคียง และเงินรายได้ส่วนหนึ่งของสำนักงานก็ใช้เป็นเงินทุนสำหรับลอยด์ จอร์จ เล่นการเมืองในเวลาต่อมา ในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๘๘๘ ลอยด์ จอร์จ สมรสกับมาร์กาเรต โอเวน (Margaret Owen) ซึ่งเป็นชาวเวลส์เช่นเดียวกันเธอเป็นธิดาของคหบดีท้องถิ่นในเมืองคริกเซียท (Criccieth) และเป็นนอนคอมฟอร์มิสต์ที่ เคร่งครัด ทั้งคู่มีบุตรชายหญิงด้วยกัน ๕ คน มาร์กาเรตสนใจการเมืองเช่นเดียวกับสามี และต่อมาเป็นสตรีคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกสภาเวลส์ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ มาร์กาเรตมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์หาเงินสนับสนุนกิจกรรมการกุศลได้เป็นจำนวนหลายล้านปอนด์และใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นท่านผู้หญิง (Dame) เธอถึงแก่อนิจกรรมใน ค.ศ. ๑๙๔๑
     ในปีแรกของการใช้ชีวิตสมรส บทบาทของลอยด์ จอร์จในด้านการเมืองก็เริ่มปรากฏให้เห็น เขาได้ร่วมมือกับเพื่อน ๆ ชาวเวลส์ที่มีแนวคิดเสรีนิยมจัดทำนิตยสารรายเดือนชื่อ Udgorn Rhydolid (แตรแห่งอิสรภาพ) เพื่อเป็นปากเสียงเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคต่าง ๆ ให้แก่ชาวเวลส์ และสามารถทำให้ศาลตัดสินบังคับใช้พระราชบัญญัติการฝังศพ (Burial Act) ที่ ออกมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๐ ให้พวกนอนคอนฟอร์มิสต์ได้รับสิทธิในการจัดพิธีฝังศพตามพิธีกรรมความเชื่อและความต้องการของพวกเขาในสุสานของโบสถ์ในนิกายแองกลิคันได้ ซึ่งสิทธินี้ได้ถูกพวกนักบวชในนิกายแองกลิคันเพิกเฉยมาโดยตลอด ความสำเร็จดังกล่าวได้เปิดประตูทางการเมืองให้แก่ลอยด์ จอร์จและทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้สมัครแข่งขันเลือกตั้งในนามของพรรคเสรีนิยมในเขตเลือกตั้งคาร์นาร์วอนเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๘๘
     ในการเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งคาร์นาร์วอน ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ที่จัดตั้งขึ้นหลังจากผู้แทนสภาสามัญที่สังกัดพรรคอนุรักษนิยมถึงแก่กรรม แม้จะเป็นเขตเลือกตั้งที่พรรคอนุรักษนิยมมีอิทธิพลและสมาชิกพรรคก็ได้รับเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ลอยด์ จอร์จก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้และชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนของชาวเวลส์โดยมีคะแนนเสียงมากกว่าคู่ต่อสู้ ๑๙ คะแนนเท่านั้นอย่างไรก็ดี นับแต่นั้นเป็นต้นมา ลอยด์ จอร์จก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งคาร์นาร์วอนมาโดยตลอดจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕ รวมระยะเวลา ๕๕ ปี กระทั่งเขาได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์เอิร์ลซึ่งทำให้เขาหมดสิทธิที่จะสังกัดสภาสามัญอีกต่อไป
     ในปีแรกขณะที่ลอยด์ จอร์จดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาสามัญซึ่งพรรคเสรีนิยมเป็นฝ่ายค้าน เขาเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุด เขานั่งรวมอยู่กับกลุ่มผู้แทนชาวเวลส์สังกัดพรรคเสรีนิยมในเขตที่นั่งที่เรียกว่า "สมาชิกรัฐสภาแถวหลัง" (back bencher) และไม่มีเงินเดือน ระหว่าง ๑๕ ปีแรกของการเป็นสมาชิกสภาแถวหลัง ลอยด์ จอร์จสร้างชื่อเสียงให้ตนเองในฐานะนักอภิปรายเจ้าเสน่ห์ที่มีวาจาเชือดเฉือนฝ่ายตรงข้ามจนสร้างความพรั่นพรึงทั่วไปแต่ก็เป็นที่ยอมรับนับถือของสมาชิกพรรคเสรีนิยมจากกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เขารณรงค์เรียกร้องให้ทอนอำนาจและอิทธิพลของนิกายแองกลิกันในเวลส์และให้เวลส์ได้ปกครองตนเอง (Welsh Home Rule) รวมทั้งการให้สิทธิต่าง ๆ แก่พวกนอนคอนฟอร์มิสต์ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ความสนใจ ของลอยด์ จอร์จในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับเวลส์และพวกนอนคอนฟอร์มิสต์ก็ลดน้อยลงเมื่อเขาหันไปต่อต้านนโยบายของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมในสงครามบัวร์ (Boer War ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒)* ในแอฟริกาใต้และ เรียกร้องให้รัฐบาลของมาร์ควิสแห่งซอลส์เบอรี (Marquis of Salisbury)* สมัยที่ ๓ ( ค.ศ. ๑๘๙๕-๑๙๐๒) หันมาสนใจต่อการปฏิรูปทางการเมืองโดยให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ประชาชนโดยทั่วไป และเห็นว่าเงินที่จะนำไปใช้ในการทำสงครามจะทำให้โครงการปฏิรูปทางสังคมของอังกฤษในการจัดตั้งสวัสดิการผู้สูงอายุและบ้านพักอาศัยแก่คนงานต้องหยุดชะงักลง
     เมื่อสงครามเกิดขึ้น ลอยด์ จอร์จก็โจมตีคณะนายทหารระดับยศนายพลที่ไม่สามารถดูแลทหารที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการขาดความใส่ใจในผู้หญิงและเด็กชาวบัวร์ที่ถูกจับกุมไว้ในค่ายกักกัน นอกจากนี้ เขายังกล่าวหาโจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงในสงครามบัวร์โดยผ่านบริษัทคินอชส์ (Kynochs) ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวเชมเบอร์เลนที่น้องชายเป็นประธานบริษัทการโจมตีการทำสงครามบัวร์ดังกล่าวนี้ได้รับทั้งความชื่นชมและความไม่พอใจของเหล่าสมาชิกพรรคเสรีนิยมและก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่สมาชิกมากขึ้น จนเกือบเกิดการแยกตัวของสมาชิกพรรคเมื่อแอสควิท และริชาร์ด เบอร์ดอน ฮัลเดน (Richard Burdon Haldane) ตลอดจนคนอื่น ๆ ที่สนับสนุนการทำสงครามจัดตั้งสันนิบาตจักรวรรดิเสรี (Liberal Imperial League) หรือกลุ่มในพรรคเสรีนิยมที่สนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ของอังกฤษ อย่างไรก็ดี การต่อต้านสงครามบัวร์อย่างเด็ดเดี่ยวและรุนแรงดังกล่าวก็ทำให้ลอยด์ จอร์จมีชื่อเสียงไปทั่ว ทั้งยังเปิดทางให้เขาได้สนิทสนมกับเซอร์เฮนรี แคมป์เบลล์-แบนเนอร์มัน ( Henry Campbell-Bannerman)* ผู้นำพรรคเสรีนิยมที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามบัวร์ด้วย
     ในช่วงเวลาที่ลอยด์ จอร์จเป็นสมาชิกแถวหลังในสภาสามัญ เขายังชีพและเลี้ยงดูครอบครัวด้วยการเป็นทนายความที่ปรึกษาโดยเปิดสำนักงานลอยด์ จอร์จ (Lloyd George and Co.) ขึ้นในกรุงลอนดอน ทั้งยังคงเป็นหุ้นส่วนกับน้องชายที่มีสำนักงานกฎหมายในเมืองคริกเซียท (Criceieth) ในเวลส์ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ เขารวมกิจการเข้ากับของอาเทอร์ รีส รอเบิตส์ (Arthur Rhys Roberts) และใช้ชื่อว่าสำนักงานลอยด์ จอร์จ และ รอเบิตส์ (Lloyd George, Roberts and Co.) อย่างไรก็ดี งานอาชีพในกรุงลอนดอนและการเป็นสมาชิกสภาสามัญก็มีส่วนทำลายชีวิตครอบครัวของเขาเพราะมาร์กาเรตภริยาไม่ชอบชีวิตในเมืองใหญ่ที่อึกทึกวุ่นวายเธอจึงยืนกรานที่ จะกลับไปอยู่ที่เมืองคริกเซียทพร้อมกับลูก ๆ โดยให้สามีทำงานและใช้ชีวิตตามลำพังที่กรุงลอนดอน ลอยด์ จอร์จในเวลาต่อมาจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฟรานเซส สตีเวนสัน (Francess Stevenson) เลขานุการของเขา และหลัง ค.ศ. ๑๙๑๑ เป็นต้นมาฟรานเซสก็กลายเป็น "ภริยาน้อย" ที่เป็นทั้งคู่คิดและผู้ให้กำลังใจเขาในงานการเมือง ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ทั้งคู่มีบุตรสาวนอกสมรสด้วยกัน ๑ คน และหลังมาร์กาเรตภริยาคนแรกเสียชีวิต ลอยด์จอร์จก็สมรสใหม่กับฟรานเซสใน ค.ศ. ๑๙๔๓ อย่างไรก็ดี การใช้ชีวิตคู่ที่ผิดแบบแผนและประเพณี ทั้งยังขัดต่อศีลธรรมและคุณธรรมของชาวคริสต์ที่ดีก็สร้างความมัวหมองให้แก่เขาเป็นอันมาก และเป็นที่ซุบซิบนินทาของคนทั่วไป
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ลอยด์ จอร์จสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองเพิ่มขึ้นเมื่อเขาเป็นแกนนำของพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคเสรีนิยมคัดค้านพระราชบัญญัติการศึกษา (Education Act) ที่ให้ยุบคณะกรรมการโรงเรียนและจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาประจำท้องถิ่น (Local Education Authorities - LEAs) หรือสภามณฑล (County Council) ขึ้นเพื่อดูแลด้านการศึกษาในเขตมณฑลต่าง ๆ โดยให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นจ่ายภาษีบำรุงการศึกษา และคณะกรรมการมีหน้าที่ดูแลสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนฆราวาส (secular school) รวมทั้งโรงเรียนของศาสนนิกายต่าง ๆ ที่อาสาสมัครเข้าร่วมในโครงการ ซึ่งรวมทั้งนิกายแองกลิคันและนิกายคาทอลิกด้วย โดยนัยของกฎหมายฉบับนี้ชาวเวลส์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพวกนอนคอนฟอร์มิสต์จะต้องถูกบังคับให้จ่ายภาษีบำรุงการศึกษาให้แก่โรงเรียนของศาสนนิกายต่าง ๆ ด้วย โดย เฉพาะโรงเรียนของนิกายแองกลิคันจำนวนมากที่มีสภาพทรุดโทรมที่ตั้งอยู่ในแคว้นเวลส์ด้วย การรณรงค์ต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในแคว้นเวลส์อย่างแข็งขันของลอยด์ จอร์จ ทำให้รัฐสภาอังกฤษต้องยินยอมแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโดยให้คณะกรรมการการศึกษาประจำท้องถิ่นหรือสภามณฑลให้การสนับสนุนแต่เฉพาะโรงเรียนของนิกายศาสนาที่มีสภาพดีเท่านั้น เพื่อกันการเอาเงินภาษีท้องถิ่นไปซ่อมแซมอาคารเรียนและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ กฎหมายนี้จึงเท่ากับไม่มีผลบังคับใช้ในแคว้นเวลส์เพราะโรงเรียนนิกายแองกลิคันโดยทั่วไปในเวลส์ล้วนมีสภาพทรุดโทรม แทบทั้งสิ้น
     บทบาทและชัยชนะที่ทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมต้องยินยอมแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการศึกษา ค.ศ. ๑๙๐๒ ดังกล่าวนอกจากทำให้ลอยด์ จอร์จเป็นที่ชื่นชมของชาวเวลส์แล้ว ยังทำให้สมาชิกพรรคเสรีนิยมสามารถสร้างสมานฉันท์กันได้อีกครั้งหลังจากขัดแย้งกันในนโยบายสงครามบัวร์ ทั้งทำให้ลอยด์ จอร์จมีสถานภาพโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในรัฐสภา เขาจึงเป็นที่คาดหมายกันโดยทั่วไปว่าจะมีโอกาสได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดหากพรรคเสรีนิยมมีโอกาสจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นในอนาคต ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ เมื่อรัฐบาลอนุรักษนิยมของอาเทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour)* ลาออก พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* โปรดเกล้าฯ ให้ลอร์ดแคมป์เบลล์-แบนเนอร์มัน หัวหน้าพรรคเสรีนิยมที่พระองค์ทรงโปรดปรานเป็นนายก รัฐมนตรีสืบแทนบัลฟอร์ ส่วนลอยด์ จอร์จได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลคนสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ แอสควิท (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ฮัลเดน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) และเซอร์เอดเวิร์ด เกรย์ (Edward Grey)* (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) เมื่อตั้งคณะรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แคมป์เบลล์-แบนเนอร์มันก็กราบทูลให้พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ ทรงยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๖ พรรคเสรีนิยมชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นและได้จัดตั้งคณะรัฐบาลตามวิถีแห่งระบบรัฐสภาของอังกฤษ ทำให้รัฐบาลแคมป์เบลล์-แบนเนอร์มันมีเสถียรภาพและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ส่วนลอยด์ จอร์จก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไปจนกระทั่งแคมป์เบลล์-แบนเนอร์มันลาออกเพราะล้มป่วยด้วยโรคหัวใจในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๘
     ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลอยด์ จอร์จได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อพิพาทของสหภาพแรงงาน ค.ศ. ๑๙๐๖ (Trade Disputes Act of 1906) ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่สหภาพแรงงานในการนัดหยุดงานอย่างถูกกฎหมายเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เขายังมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานรถไฟกับบริษัทรถไฟจนทำให้สหภาพแรงงานรถไฟยอมยกเลิกการนัดหยุดงานทั่วไปและบริษัทรถไฟยอมให้ผู้แทนของสหภาพ ๑ คนร่วมอยู่ในคณะกรรมการการประนีประนอม (conciliation board) ของบริษัทรถไฟแต่ละแห่ง นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของลอยด์ จอร์จในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่แม้แต่ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ก็ยังทรงชมเชยในวิธีการของเขาซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เขาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนการออกกฎหมายทางด้านสังคมที่มีวัตถุประสงค์จะช่วยให้คนงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งการได้รับความช่วยเหลือในยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ และอื่น ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เขาได้จัดตั้งการท่าเรือแห่งกรุงลอนดอน (Port of London Authority) ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรื่องการทำงานของคนงานท่าเรือและกิจการการขนส่งสินค้า ลอยด์ จอร์จจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถ
     หลังแคมป์เบลล์-แบนเนอร์มันลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แอสควิทได้สืบทอดตำแหน่งแทนและเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันเป็นเวลาเกือบ ๙ ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุดนับแต่ลอร์ดลิเวอร์พูล (Lord Liverpool ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๒๗)* ลอยด์จอร์จได้เลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนผู้ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แทนเขาคือวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ทั้งลอยด์ จอร์จ และเชอร์ชิลล์ต่างให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิรูปสังคมโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาคนยากจนและ การปรับปรุงสวัสดิการของประชาชนทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ลอยด์ จอร์จได้ผลักดันแอสควิทให้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุและคนเจ็บป่วย รวมทั้งผู้ว่างงานและปฏิรูปสังคมรวมทั้งการปรับปรุงกองทัพเรือเข้าสู่สภาโดยเสนอให้เก็บภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากภาษีมรดก ภาษีที่ดินในตัวเมือง ภาษียาสูบ เหล้า การขายที่ดินและอื่นๆ ภาษีต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้มีฐานะสูญเสียผลประโยชน์อย่างมาก โดยลอยด์ จอร์จถือคติให้ความช่วยเหลือ "สามัญชน" จากเงินของคนรวยที่เขาเรียกว่า "พวกดุ๊ก" สภาขุนนางได้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างมากด้วยคะแนนเสียง ๓๐๐ ต่อ ๗๕ รัฐบาลตอบโต้ด้วยการลาออกและจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณที่ถูกสภาขุนนางคว่ำบาตร พรรคเสรีนิยมมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๐๙ และกลับเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง สภาขุนนางจึงต้องจำยอมผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ค.ศ. ๑๙๐๙ โดยดี พระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้ในเวลาต่อมามีชื่อเรียกว่า "งบประมาณของประชาชน" (People’s Budget) และทำให้ลอยด์ จอร์จได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย
     การใช้อำนาจของสภาขุนนางในการระงับร่างกฎหมายที่ผ่านจากสภาสามัญทำให้รัฐบาลพรรคเสรีนิยมต้องการลดบทบาทและอำนาจของสภาขุนนางลงโดยเสนอร่างพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ๑๙๑๑ (Parliament Act of 1911) เพื่อทอนอำนาจของสภาขุนนางไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการออกกฎหมายมากเกินไป ลอยด์ จอร์จสนับสนุนนายกรัฐมนตรีแอสควิทในเรื่องดังกล่าวจนสภาขุนนางในท้ายที่สุดก็ยอมผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ ซึ่งทำให้ปัญหาการก้าวก่ายอำนาจของสภาขุนนางต่อสภาสามัญที่มีมาเป็นเวลายาวนานจบสิ้นลง และนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการเมืองของอังกฤษให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ลอยด์ จอร์จมีบทบาทสำคัญในการเสนอพระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติ (National Insurance Act) ซึ่งกำหนดให้มีการประกันการเจ็บป่วยและพิการสำหรับแรงงานอุตสาหกรรมและการประกันการว่างงาน ก่อนหน้าที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่สภาสามัญ เขาเดินทางไปเยอรมนี ออสเตรีย และเบลเยียม เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการประกันสังคมในประเทศเหล่านี้ซึ่งขณะนั้นมีความก้าวหน้ากว่าอังกฤษ เขายึดระบบการประกันสุขภาพของเยอรมนีเป็นแนวทางและพยายามต่อสู้ในรัฐสภาจนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติผ่านออกมาได้สำเร็จ นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนเชอร์ชิลล์ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปสังคมต่าง ๆ เช่นร่างพระราชบัญญัติประกันการว่างงาน การจัดเงินบำนาญสงเคราะห์คนชราและอื่น ๆ พระราชบัญญัติปฏิรูปสังคมเหล่านี้จึงเป็นการวางรากฐานของการทำให้อังกฤษกลายเป็นรัฐสวัสดิการในเวลาต่อมาด้วย
     ในช่วงเวลาที่ลอยด์ จอร์จดำเนินนโยบายการปฏิรูปสังคมนั้น เขาก็ให้ความสนใจกับนโยบายต่างประเทศด้วยเพราะตระหนักถึงนโยบายการสร้าง อิทธิพลของเยอรมนีในยุโรปและการปรับปรุงกำลังรบทางทะเลของเยอรมนี เขาจึงสนับสนุนนายพลเรจินัลด์ แมกเคนนา (Reginald McKenna) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือในการปรับปรุงแสนยานุภาพทางทะเลและการสร้างเรือรบขนาดใหญ่ประเภทเรือเดรดนอต (Dreadnought)* ความกังวลเกี่ยวกับความเข้มแข็งของอังกฤษยังทำให้ลอยด์ จอร์จพยายาม ประสานงานกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานและการจะผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โมร็อกโก (Morocco Crisis)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๑ อังกฤษให้การสนับสนุนฝรั่งเศสซึ่งทำให้เยอรมนีไม่พอใจและปฏิเสธที่จะเจรจาทำความเข้าใจกับอังกฤษ ทั้งยื่นเงื่อนไขว่าจะยอมทำความเข้าใจกับอังกฤษและเลิกการแข่งขันกำลังรบทางทะเลในกรณีที่อังกฤษสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายเป็นกลางหากเกิดสงครามขึ้นในยุโรป นโยบายของเยอรมนีทำให้ลอยด์ จอร์จซึ่งไม่ต้องการให้อังกฤษเข้าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างประเทศใด ๆ ที่กำลังขยายตัวในยุโรปขณะนั้นเกิดความไม่ไว้วางใจเยอรมนีและเริ่มเปลี่ยนทัศนคติต่อเยอรมนีโดยสนับสนุนการสร้างพันธมิตรกับฝรั่งเศสให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ลอยด์ จอร์จถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับมีการปั่นราคาหุ้นของบริษัทมาร์โคนี (Marconi) ที่อื้อฉาว และสาธารณชนเข้าใจกันว่าเขารับทราบข้อมูลวงในจากการดำเนินงานของรัฐบาลกับบริษัท เหตุการณ์ดังกล่าวเกือบทำให้ลอยด์ จอร์จหมดอนาคตทางการเมือง
     เมื่ออาร์ชดุ๊กอาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรียฮังการี และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงเซราเยโว (Serajevo) เมืองหลวงของบอสเนียและเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น อังกฤษได้เข้าสู่สงครามเมื่อเยอรมนีละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียม สงครามโลกทำให้ลอยด์ จอร์จกู้ชื่อเสียงทางการเมืองกลับคืนได้เพราะเขาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นภายในพรรคในการผนึกกำลังกันทำสงคราม เขาสนับสนุนเชอร์ชิลล์ และนายพลเฮอร์เบิร์ต เอช. คิชเนอร์ (Herbert H. Kitchener)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในการยึดคาบสมุทรกัลลิโพลี (Gallipoli) ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เพื่อควบคุมช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* และเปิดแนวรบด้าน ตะวันออกเฉียงใต้ขณะที่การรบในแนวรบด้านตะวันตกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ยังอยู่ในสภาพชะงักงัน ขณะเดียวกันลอยด์ จอร์จก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์คิชเนอร์และกระทรวงกลาโหมที่ไม่ผลิตกระสุนปืนและอาวุธปืนให้พอเพียงกับความต้องการในการป้องกันแนวรบด้านตะวันตก จน ทำให้เกิดการขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้น
     ลอยด์ จอร์จได้มีโอกาสตำหนิการทำงานของคิชเนอร์อย่างตรงไปตรงมาเมื่อแอสควิทแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในคณะรัฐบาล ลอยด์ จอร์จได้วางนโยบายที่จะยุติกฎระเบียบราชการที่เคร่งครัดหยุมหยิมและมีขั้นตอนมากมายเพื่อให้การผลิตกระสุนปืนและอาวุธปืนเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นและเต็มขีดความสามารถ เขาได้ตอบโต้คิชเนอร์ที่เสนอให้แต่ละกองพันมีอาวุธปืนกลเพียง ๔ กระบอกเท่านั้น โดยยกเป็นตัวเลขให้เห็นซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำนานเล่าขาน กันในกองทัพว่าให้นำจำนวนอาวุธปืนกลที่ คิชเนอร์ เสนอยกกำลัง ๒ แล้วคูณด้วย ๒ เมื่อได้ผลลัพธ์แล้วให้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก ๒ เท่าเพื่อ "ความโชคดี" ดังนั้น ด้วยวิธีการเสนอจำนวนตัวเลขดังกล่าวนี้ จำนวนอาวุธปืนกลจึงเท่ากับจำนวน ๖๔ กระบอกหรือเพิ่มขึ้น ๑๖ เท่า ซึ่งเป็นจำนวนที่กองพันแต่ละแห่งได้รับการจัดสรรในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ลอยด์ จอร์จยังแสดงความสามารถในการควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยการยกเลิกข้อกีดขวางต่าง ๆ ในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานและผลักดันการเปลี่ยนสภาพโรงงานกว่า ๗๐ แห่งให้เป็นโรงงานผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืนเพื่อผลิตให้ได้มากพอเพียงกับความต้องการของกองทัพ ทั้งยังมีการสั่งอาวุธจากนานาประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเขายังสนับสนุนแรงงานสตรีทั้งแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือให้เข้าร่วมในการผลิตอาวุธและเดินทางไปใหขวัญและกำลังใจแก่คนงานตามโรงงานผลิตอาวุธต่าง ๆ อีกด้วย ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๖ ปัญหาการขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์จึงได้รับการแก้ไขจนสำเร็จ
     ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่ สภาทหารของกลุ่มภราดรภาพแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republic Brotherhood) ซึ่งเป็นสมาคมลับในการกู้ชาติไอร์แลนด์เห็นเป็นโอกาสที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษ จึงก่อการจลาจลวันอีสเตอร์ (Easter Rising) ขึ้นในกรุงดับลินในวันจันทร์ของเทศกาลอีสเตอร์ (Easter Monday) ค.ศ. ๑๙๑๖ เพื่อก่อกระแสการกบฏต่ออังกฤษทั่วทั้งไอร์แลนด์ กลุ่มไอริชรักชาติดังกล่าวนี้หวังจะได้รับความช่วยเหลือด้านกำลังและอาวุธจากเยอรมนี แต่แผนการของพวกเขาถูกค้นพบโดยจารชนอังกฤษที่ทำงานร่วมกับสหรัฐอเมริกาทำให้ แผนการล้มเหลว ฝ่ายกบฏถูกปราบปรามจนต้องยอมจำนนในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๖ หลังจากการจลาจลในวันอีสเตอร์สิ้นสุดลง แอสควิทได้ส่งลอยด์จอร์จไปกำกับดูแลและสร้างความปรองดองกับชาวไอริชซึ่งทำให้เขาเสียโอกาสที่จะเดินทางในเดือนมิถุนายนไปกับคิชเนอร์เพื่อเจรจากับรัสเซียแต่ก็นับเป็นโชคดีของเขาเพราะเรือรบหลวงแฮมป์เชียร์ (HMS Hampshire) ที่คิชเนอร์โดยสารถูกทุ่นระเบิดของฝ่ายเยอรมนีจมลงก้นทะเลและคิชเนอร์ก็เสียชีวิตพร้อมกับเรือ
     การเสียชีวิตของคิชเนอร์เปิดโอกาสให้ลอยด์จอร์จเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะเดียวกันก็เป็นช่วงระยะเวลาที่ยุทธการที่แม่น้ำซอม (Battle of the Somme ๑ กรกฎาคม -๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖)* เปิดฉากรบพอดี แต่ความล้มเหลวของกองทัพอังกฤษที่จะเอาชนะฝ่ายเยอรมนี ทำให้สถานการณ์รบในแนวรบด้านตะวันตกทรุดหนัก แอสควิทในฐานะผู้นำรัฐบาลจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างรุนแรง ทั้งลอยด์ จอร์จเองซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสูงในคณะรัฐบาลก็ตั้งข้อกังขาในประสิทธิภาพของเขาในฐานะผู้นำยามสงครามรวมทั้งบทบาทของพลเอก ดักลาส เฮก (Douglas Haig)* ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพอังกฤษประจำภาคพื้นทวีปยุโรปด้วย นับเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อแอสควิท ดังนั้น เมื่อมีผู้เสนอให้ลอยด์ จอร์จทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการรบแทนแอสควิทจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ลอยด์ จอร์จเข้าดำรงตำแหน่งสืบแทนจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๒ การเข้าดำรงตำแหน่งครั้งนี้มีส่วนทำให้พรรคเสรีนิยมแตกเป็น ๒ กลุ่มและกลุ่มที่สนับสนุนแอสควิทก็เห็นว่าลอยด์ จอร์จหักหลัง ทั้งยังทำให้พรรคเสรีนิยมหมดบทบาททางการเมืองลงอย่างมากและไม่สามารถฟื้นตัวได้อีกต่อไปส่วนลอยด์ จอร์จก็ต้องอาศัยการสนับสนุนของพรรคอนุรักษนิยมเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ขึ้นด้วย
     หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลอยด์ จอร์จก็ประกาศนโยบายที่ จะมุ่งมั่นเอาชนะสงครามให้ได้และเริ่มใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อการสงครามเพิ่มขึ้นเป็นต้นว่ามีการปันส่วนอาหารและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานขึ้นเพื่อดำเนินการเรื่องการเกณฑ์คนงาน ส่งเสริมสหภาพแรงงานและการบริหารแรงงานให้สอดคล้องกับความจำเป็นในภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและอื่น ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘ จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ๒ เท่าจากจำนวน ๔ ล้านกว่า คนเป็น ๘ ล้านคน นอกจากนี้ ลอยด์ จอร์จยังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีสงคราม (War Cabinet) ขึ้นซึ่งประกอบ ด้วยสมาชิก ๕ คน และมีการประชุมกันเกือบทุกวันเพื่อพิจารณาตัดสินเรื่องปัญหาต่าง ๆ ให้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางครั้งการประชุมก็มีผู้นำของอาณาจักรต่าง ๆ ในจักรวรรดิ ผู้แทนจากอินเดียและรัฐมนตรีที่ดูแลกิจการอาณานิคมเข้าร่วม ประชุมด้วย โดยมีชื่อเรียกว่าคณะรัฐมนตรีสงครามแห่งจักรวรรดิ (Imperial War Cabinet) กล่าวกันว่าความเข้มแข็งของลอยด์ จอร์จในการแบกรับภาระสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีส่วนที่ทำให้อังกฤษมีชัยชนะต่อเยอรมนีในที่สุด
     หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ลอยด์ จอร์จซึ่งแสดงตนต่อต้านเยอรมนีและต้องการลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงเป็นผู้แทนของอังกฤษในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส ในระหว่างการประชุมเขาเริ่มเปลี่ยนความคิดการจะลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงเพราะตระหนักว่ารัสเซียซึ่งเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ และเปลี่ยน การปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามสันติภาพของยุโรป เยอรมนีควรจะเป็นประเทศกันชนที่ป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปได้ดังนั้น ในการจะสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ได้ผลเยอรมนีต้องมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับหนึ่ง ลอยด์ จอร์จจึงสนับสนุนหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวูดโรว์วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นแนวทางการทำสนธิสัญญาสันติภาพหรือสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* โดยช่วยทำให้ข้อกำหนดต่าง ๆ ในสนธิสัญญาไม่รุนแรงเกินไป ทั้งพยายามคัดค้าน ชอร์ชเกลมองโซ (Georges Clémenceau)* นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสที่ยืนกรานในการรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศสอย่างเหนียวแน่นและต้องการจะลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรง
     ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงครามในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าการเลือกตั้งคูปอง (Coupon Election)* เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมที่สนับสนุนลอยด์ จอร์จ จะได้หนังสือรับรองจากผู้นำพรรคการเมืองทั้ง ๒ พรรคเพื่อให้แตกต่างจากผู้สมัครพรรคเสรีนิยมกลุ่มแอสควิทที่ไม่ต้องการร่วมมือกับพรรคอนุรักษนิยม ฝ่ายลอยด์ จอร์จได้เสียง ๔๘๔ ที่นั่งซึ่งทำให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๒ ในขณะเดียวกันพรรคแรงงาน (Labour Party)* ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นานก็ได้รับเลือกเข้าสู่สภา

๕๙ ที่นั่งซึ่งในเวลาต่อมาก็จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นนโยบายสำคัญของลอยด์ จอร์จคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและควบคุมภาวะเงินเฟ้อตลอดจนส่งเสริมการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เขาสามารถผลักดันร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญให้สำเร็จได้หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติผู้แทนของประชาชน (Representation of the People Act) ค.ศ. ๑๙๑๘ ที่ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ผู้หญิงที่อายุเกิน ๓๐ ปี พระราชบัญญัติการศึกษา (Education Act) ค.ศ. ๑๙๑๘ พระราชบัญญัติการเคหะ (Housing Act) ค.ศ. ๑๙๑๙ และพระราชบัญญัติประกันการว่างงาน (Unemployment Insurance Act) ค.ศ. ๑๙๒๐ และ ค.ศ. ๑๙๒๒
     แม้ลอยด์ จอร์จจะประสบความสำเร็จในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ ทำให้อังกฤษมีบทบาทสำคัญในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสและการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ขึ้น แต่เขาก็ล้มเหลวในการแก้ปัญหาไอร์แลนด์เพราะพระราชบัญญัติการปกครองไอร์แลนด์ (Government of Irland Act) ค.ศ. ๑๙๒๐ และสนธิสัญญาอังกฤษ-ไอร์แลนด์ (Arglo- Irish Treaty) ค.ศ. ๑๙๒๐ ที่เขาผลักดันให้บรรลุผลได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในกลุ่มนักชาตินิยมชาวไอริช นอกจากนี้ การที่ลอยด์ จอร์จทำให้อังกฤษเข้าไปเกี่ยวข้องในวิกฤติการณ์ชานัก (Chanak Crisis)* ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกรีซกับตุรกี ก็เกือบทำให้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับตุรกีและก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะรัฐบาลผสม เนื่องจากเขาสนับสนุนกรีซแต่สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมที่ร่วมในคณะรัฐบาลสนับสนุนตุรกี ลอยด์ จอร์จจึงถูกโจมตีอย่างมาก กอปรกับกองทุนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการขายตำแหน่งขุนนางและบรรดาศักดิ์อย่างเปิดเผย [ตำแหน่งอัศวิน (knight) มูลค่า ๑๒,๐๐๐ ปอนด์และบารอนเนต (baronet) มูลค่า ๑๓,๐๐๐ ปอนด์] จึงทำให้พรรคอนุรักษนิยมลงมติถอนตัวออกจากรัฐบาลผสมและตัดขาดจากลอยด์ จอร์จด้วยคะแนนเสียง ๑๘๗ ต่อ ๘๗ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ลอยด์ จอร์จจำต้องลาออกจากตำแหน่งและแอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์ (Andrew Bonar Law)* ผู้นำพรรค อนุรักษนิยมได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสืบแทน แต่ต่อมาปัญหาสุขภาพก็ทำให้โบนาร์ ลอว์ลาออกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ และสแตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนต่อมา
     ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๒๔ พรรคเสรีนิยมสูญเสียความนิยมจากประชาชนอย่างมากเพราะได้รับเลือกเข้าสู่สภาเพียง ๔๒ ที่นั่งในขณะที่ พรรคอนุรักษนิยมได้ ๔๑๕ ที่นั่ง และพรรคแรงงานได้ ๑๕๒ ที่นั่ง ลอยด์ จอร์จได้รับเลือกจากเขตเลือกตั้งเดิมให้เข้าสู่สภาอีกครั้งหนึ่ง เขาตระหนักถึงปัญหาความแตกแยกภายในพรรคเสรีนิยมและพยายามสร้างความสมานฉันท์ภายในพรรคแต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักอย่างไรก็ตาม เมื่อแอสควิทผู้นำพรรคเสรีนิยมถอนตัวจากการเมืองและลาออกจากหัวหน้าพรรคเสรีนิยม ลอยด์ จอร์จได้เป็นผู้นำพรรคสืบแทนในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ นับแต่นั้นเป็นต้นมาเขาพยายามสร้างความเป็นเอกภาพภายในพรรคและขณะเดียวกันก็สนับสนุนเงินทุนจัดทำสิ่งพิมพ์ของพรรคเผยแพร่ซึ่งรวมทั้งหนังสือชุดปกเหลืองเสรีนิยม (Liberal Yellow Books) ในชื่อ Britain’s Industrial Future ( ค.ศ. ๑๙๒๘) หนังสือชุดนี้นำแนวความคิดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญและนักคิดเสรีนิยมคนอื่น ๆ มาประยุกต์ในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการว่างงาน การฟื้นฟูเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมและอื่น ๆ แนวความคิดดังกล่าวคือพื้นฐานของนโยบายพรรคเสรีนิยมในการรณรงค์หา เสียงเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๙ และมีส่วนให้พรรคเสรีนิยมได้ความนิยมกลับคืนโดยได้ที่นั่งเพิ่มจาก ๔๒ ที่นั่งเป็น ๕๙ ที่นั่งพรรคเสรีนิยมสนับสนุนพรรคแรงงานซึ่งได้เสียง ๒๘๗ ที่นั่งจัดตั้งรัฐบาลโดยมีเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald)* เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ ลอยด์ จอร์จเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงครามรวม ๒ เล่มคือ Where Are We Going? ( ค.ศ. ๑๙๒๓) และ Sling and Arrows ( ค.ศ. ๑๙๒๙) ต่อมาได้เขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มคือ The Truth About the Peace Treaty ( ค.ศ. ๑๙๓๘)
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ลอยด์ จอร์จป่วยหนักด้วยโรคต่อมลูกหมากอักเสบ เขาจึงถอนตัวจากการเมืองและลาออกจากหัวหน้าพรรคเสรีนิยมในช่วงที่พระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* ทรงให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาต้องการกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกและได้เสนอนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างถอนรากถอนโคนที่เรียกกันว่า "โครงการนิวดีลของลอยด์ จอร์จ" (Lloyd George’s New Deal) ซึ่งยึดหลักการการดำเนินงานตามโครงการนิวดีล (New Deal) ของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นแนวทาง แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่เป็นที่สนใจของประชาชน กลุ่มที่สนับสนุนเขาจึงได้รับเลือกเข้าสู่สภาเพียง ๔ คนเท่านั้น
     เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซี (Nazi Party)* ในเยอรมนีละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายและสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaty of Locarno ค.ศ. ๑๙๒๕)* ด้วยการส่งทหารเข้าไปประจำในเขตไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นเขตปลอดทหาร แม้องค์การสันนิบาตชาติจะประณามเยอรมนีแต่อังกฤษก็ปฏิเสธที่จะดำเนินการลงโทษเยอรมนีทางเศรษฐกิจและทางทหาร ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสไม่สามารถทำอะไรได้มากนักนอกจากการออกแถลงการณ์ประณามเยอรมนี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ลอยด์ จอร์จซึ่งพยายามแสดงบทบาทในฐานะรัฐบุรุษระหว่างประเทศที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์และมีความเป็นตัวของตนเองได้เดินทางไปพบกับฮิตเลอร์ที่เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgarden) ในเยอรมนี เมื่อกลับอังกฤษเขาให้ความคิดเห็นชื่นชมโครงการโยธาสาธารณะต่าง ๆ ของเยอรมนีและยกย่องฮิตเลอร์ว่าเป็นชาวเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งเปรียบเสมือนเป็น "จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)" ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาและเรียกเขาว่า "จอร์จ วอชิงตัน แห่งเยอรมนี" อย่างไร ก็ตามเมื่อเยอรมนีและอิตาลีร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทหารที่เรียกว่าแกนอักษะเบอร์ลิน-โรม (Berlin-Rome Axis) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และในปีต่อมาทั้งสองประเทศก็ร่วมลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact) ด้วย ลอยด์ จอร์จจึงเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามของเยอรมนีและหันมาสนับสนุนวินสตันเชอร์ชิลล์ในการต่อต้านนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ของนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)*
     หลังการประชุมมิวนิก (Munich Conference)* ค.ศ. ๑๙๓๘ ได้ไม่นาน ฮิตเลอร์ก็แสดงท่าทีให้เห็นว่าเยอรมนีจะเข้ายึดครองแคว้นโบฮีเมีย (Bohemia) โมเรเวีย (Moravia) และสโลวะเกีย (Slovakia) ของเชโกสโลวะเกีย รัฐบาลอังกฤษได้ส่งลอยด์ จอร์จไปเยอรมนีเพื่อเจรจาโน้มน้าวฮิตเลอร์ให้ยกเลิกความคิด

ในการจะขยายอำนาจเข้าไปในยุโรปตะวันออก แต่ก็ประสบความล้มเหลว และเขาได้บันทึกความทรงจำและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของอังกฤษและบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้นเป็นหนังสือชื่อ The Truth About the Peace Treaty ( ค.ศ. ๑๙๓๘) ต่อมา เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ อังกฤษก็ประกาศสงครามต่อเยอรมนีทันที ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ ขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญศึกหนักในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ลอยด์ จอร์จพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษหาทางเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีเพราะเห็นว่าอังกฤษยังไม่เข้มแข็งพอที่จะเอาชนะเยอรมนีได้ ทั้งเขามีบทบาทสำคัญในการโจมตีความล้มเหลวของรัฐบาลเชมเบอร์เลนในการดำเนินการรบซึ่งทำให้เชมเบอร์เลนต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และเชอร์ชิลล์ก็เข้าดำรงตำแหน่งสืบแทนในวันเดียวกัน
     เมื่อเชอร์ชิลล์ได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีสงครามขึ้นซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีสำคัญ ๆ จากพรรคต่าง ๆ เพื่อวางแผนการรบให้ได้ผล เขาเชิญลอยด์ จอร์จให้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลด้วยในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแต่ถูกปฏิเสธ ทั้งต่อมา ลอยด์ จอร์จยังปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐอเมริกาด้วยโดยอ้างเหตุผลว่าเขาสูงอายุ อย่างไรก็ตาม ลอยด์ จอร์จก็ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่เชอร์ชิลล์จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๓ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ลอยด์ จอร์จในวัย ๘๐ ปีก็สมรสกับ ฟรานเซสเลขานุการหลังจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันกว่า ๓๐ ปี และมีบุตรสาวด้วยกันขณะเดียวกันปัญหาสุขภาพก็ทำให้เขาต้องการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ลอยด์ จอร์จกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดในเวลส์ ในเดือนกันยายนปีเดียวกันก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองทีเนวิดด์ (Ty Newydd) ทั้งหันมาพูดภาษาเวลส์มากขึ้น เขาจึงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของชาวเวลส์และได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษชาวเวลส์ด้วย
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ ลอยด์ จอร์จได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ เอิร์ลลอยด์-จอร์จแห่งดูอีฟอร์และไวส์เคานต์กวิเนดด์ (Gwynedd) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลไคร์นาวอนเชียร์ เขาถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ที่เมืองทีเนวิดด์ขณะอายุ ๘๒ ปีโดยไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ในสภาขุนนาง อีก ๔ วันต่อมาร่างของเขาก็ได้รับการฝังอย่างเรียบง่าย ณ สุสานใกล้กับแม่น้ำดูอีฟอร์ ในเมืองแลนสตัมดูอี มณฑลไคร์นาร์วอนเชียร์ที่เขาใช้ชีวิตในเยาว์วัย.



คำตั้ง
Lloyd George, David, 1st Earl Lloyd-George of Dwyfor
คำเทียบ
เดวิด ลอยด์ จอร์จ เอิร์ลลอยด์-จอร์จที่ ๑ แห่งดูอีฟอร์
คำสำคัญ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- สโลวาเกีย
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน ดี.
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- พรรคนาซี
- ไรน์แลนด์, เขต
- โมเรเวีย
- โบฮีเมีย, แคว้น
- แบร์ชเทสกาเดิน, เมือง
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- จอร์จที่ ๕, พระเจ้า
- เคนส์, จอห์น เมย์นาร์ด
- โครงการนิวดีล
- แกนอักษะเบอร์ลิน-โรม
- กติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น
- องค์การสันนิบาตชาติ
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด เอิร์ลลอยด์-จอร์จที่ ๑ แห่งดูอีฟอร์
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- จอร์จ, วิลเลียม
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- เพมโบรกส์เชียร์, มณฑล
- แอสควิท, เฮอร์เบิร์ต เฮนรี
- พวกนอนคอนฟอร์มิสต์
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- ลอยด์, เอลิซาเบท
- พระราชบัญญัติการฝังศพ
- คริกเซียท, เมือง
- ไคร์นาร์วอนเชียร์, มณฑล
- แลนสตัมดูอี, เมือง
- พอร์ตแมด็อก, เมือง
- ลอยด์, ริชาร์ด
- โอเวน, มาร์กาเรต
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ
- แคมป์เบลล์-แบนเนอร์มัน, เซอร์เฮนรี
- สงครามบัวร์
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- เกรย์, เซอร์เอดเวิร์ด
- สันนิบาตจักรวรรดิเสรี
- ซอลส์เบอรี, มาร์ควิสแห่ง
- ฮัลเดน, ริชาร์ด เบอร์ดอน
- สตีเวนสัน, ฟรานเซส
- บัลฟอร์, อาเทอร์ เจมส์
- พระราชบัญญัติการศึกษา
- เอดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้า
- พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อพิพาทของสหภาพแรงงาน ค.ศ. ๑๙๐๖
- พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ๑๙๑๑
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ลิเวอร์พูล, ลอร์ด
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- กัลลิโพลี, คาบสมุทร
- คิชเนอร์, เฮอร์เบิร์ต เอช.
- ซาราเยโว, กรุง
- พระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติ
- เดรดนอต, เรือ
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- การจลาจลวันอีสเตอร์
- วิกฤตการณ์โมร็อกโก
- แมกเคนนา, เรจินัลด์
- กลุ่มภราดรภาพแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์
- คณะรัฐมนตรีสงครามแห่งจักรวรรดิ
- ยุทธการที่แม่น้ำซอม
- การเลือกตั้งคูปอง
- เฮก, ดักลาส
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- มหาอำนาจกลาง
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- พรรคแรงงาน
- คณะรัฐมนตรีสงคราม
- วิลสัน, วูดโรว์
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- พระราชบัญญัติการเคหะ
- พระราชบัญญัติการปกครองไอร์แลนด์
- ลอว์, แอนดรูว์ โบนาร์
- พระราชบัญญัติผู้แทนของประชาชน
- พระราชบัญญัติประกันการว่างงาน
- วิกฤตการณ์ชานัก
- สนธิสัญญาอังกฤษ-ไอร์แลนด์
- กวิเนดด์, ไวส์เคานต์
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ทีเนวิดด์, เมือง
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1863-1945
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๐๖-๒๔๘๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf